วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ข้อมูลการกู้ซื้อบ้าน / คอนโดของธนาคาร

วงเงินกู้ของธนาคารนั้นที่แต่ละคนจะได้รับขึ้นอยู่กับปัจจัย อะไรบ้าง


คนที่ทำธุรกิจส่วนใหญ่ มักจะคุ้นเคยกับคำว่า วงเงินกู้ (Loan) เป็นอย่างดี ซึ่งการที่จะกู้เงินจากธนาคารได้นั้นกิจการจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน อีกทั้งต้องระบุว่า วงเงินที่ต้องการใช้ ระยะเวลาจ่ายชำระคืน และที่สำคัญคือต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินกู้ให้กับธนาคาร เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เป็นต้น ข้อมูลวงเงินกู้ของธนาคาร วงเงินนั้นที่แต่ละคนจะได้รับจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

1. อัตราเงินเดือนและภาระหนี้สิน ค่าโดยประมาณจะได้ 50 เท่าของเงินเดือน เช่น ถ้าเงินเดือน 20,000 และไม่มีภาระหนี้สินใดๆ วงเงินกู้ที่ได้่จะประมาณ 1,000,000 (20,000 x 50 เท่า) แต่ถ้าคุณมีผ่อนอะไรอยู่ก็จะหักจากเงินเดือนก่อนแล้วค่อยคูณด้วย 50

บางคนที่มีเงินโอทีหรือเงินรายได้พิเศษนอกเหนือไปจากเงินเดือนประจำ บางธนาคารก็ไม่เอามาคิด บางธนาคารก็เอามาคิดแค่ 50% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎและนโยบายของแต่ละธนาคาร ซึ่งคนกู้จะต้องเช็คกับทางธนาคารอีกที

จำนวนวงเงินกู้ อาจได้มากหรือน้อยกว่า 50 เท่า ขึ้นอยู่กับเครดิตของผู้กู้ ความมั่นคงของภาระหน้าที่การงาน และประวัติการชำระหนี้อื่นๆ ก่อนหน้านี้ ส่วนผู้กู้ที่ทำงานบริษัทที่มีสวัสดิการกู้ซื้อบ้านกับทางธนาคาร ธนาคารมักปล่อยกู้ง่ายและให้จำนวนวงเงินมากกว่าปกติ

2. ราคาประเมินบ้านหรือคอนโดมิเนียมของทางธนาคาร ราคาประเมินที่กล่าวถึง ทางธนาคารจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจบ้านที่เราจะซื้อและประเมินราคา พวกบ้านหรือคอนโดใหม่ บางธนาคารให้กู้เต็มราคาประเมิน ส่วนพวกประกาศขายบ้าน / คอนโดมือสอง บางธนาคารก็ให้กู้เต็ม แต่ส่วนมากมักให้แค่ 80% ของราคาประเมินธนาคาร อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละธนาคารที่มีอยู่ ทั้งนี้ถ้าได้ราคาประเมินบ้านสูงกว่าฐานของเงินเดือนตามข้อที่ 1 คุณก็กู้ได้สูงสุดตามข้อ 1 และถ้าราคาประเมินบ้านต่ำกว่าวงเงินตามฐานเงินเดือนในข้อที่ 1 คุณก็กู้ได้สูงสุดตามราคาประเมินบ้าน

3. อายุของผู้กู้ ธนาคารส่วนมากให้ผู้กู้สามารถชำระหนี้ได้จนถึงอายุ 60 บางธนาคารอาจถึง 65 ดังนั้นถ้าคุณอายุเยอะ จำนวนปีในการชำระหนี้จะน้อย ซึ่งก็หมายความว่าค่าผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนนั้นจะสูง เช่น อายุ 55 ขอกู้เงิน 3,000,000 ซึ่งคุณจะสามารถผ่อนได้แค่ห้าปี ดังนั้นจำนวนเงินผ่อนแต่ละเดือนจะสูงมาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วธนาคารจะให้ผ่อนได้ไม่เกินประมาณ 40% ของเงินเดือน ถ้าหากเกิน ธนาคารก็จะลดวงเงินกู้คุณลง

ผู้กู้สามารถกู้เพิ่มเป็นค่าตกแต่งได้อีกประมาณ 10% ของวงเงินกู้บ้านที่ทางธนาคารอนุมัติให้ เช่นถ้าแบงค์อนุมัติวงเงินกู้ซื้อบ้านให้คุณที่หนึ่งล้านบาท คุณสามารถกู้เพื่อตกแต่งเพิ่มได้อีกจำนวนหนึ่งแสนบาท แต่อัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ตกแต่งจะสูงกว่าเงินกู้ซื้อบ้าน

ข้อกำหนดดังกล่าวนั้นไม่ได้ตายตัว ธนาคารแต่ละแห่งก็จะมีข้อพิจารณาที่แตกต่างกัน ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงแนวทางคร่าวๆ ทั้งนี้ผู้กู้ควรติดต่อถามเจ้าหน้าที่สินเชื่อของแต่ละธนาคารจะดีที่สุด หรือโทรไปตามที่ Call Center ที่มีบริการในแต่ละธนาคารก่อนก็ได้ ทางเจ้าหน้าที่สามารถให้ข้อมูลคร่าวๆ ได้เช่นกันค่ะ

คำแนะนำ:

1. คนที่อยากมีบ้านหรือคอนโด แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ขอให้เริ่มจากการประเมินวงเงินกู้ของตนเองก่อนว่าธนาคารจะปล่อยกู้ให้คุณได้เท่าไหร่ คุณสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อแต่ละธนาคาร (แนะนำให้ติดต่อกับธนาคารที่่คุณมีบัญชีเงินเดือนหรือธนาคารที่บริษัทคุณมีสวัสดิการก่อน เพราะธนาคารพวกนี้จะสามารถเช็คข้อมูลของคุณได้ง่ายจากบัญชีของคุณ และความเป็นไปได้ในการได้รับอนุมัติก็จะมีมากกว่าธนาคารที่คุณไม่เคยเป็นลูกค้ามาก่อนเลย) เราสามารถเช็คหลายๆธนาคารได้พร้อมกัน เป็นแค่ขั้นตอนของ การขอข้อมูลจากธนาคาร ไม่ได้ทำเรื่องกู้

2. หลังจากทราบวงเงินที่คุณสามารถกู้ได้ ก็ค่อยไปมองหาดูบ้านหรือคอนโดที่อยู่ในงบของคุณ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปดูบ้านหรือคอนโโที่มันแพงๆ แล้วมารู้ที่หลังว่าคุณกู้ไม่ผ่านเพราะบ้านแพงไป

3. อย่าซื้อบ้านหรือคอนโดเกินกำลังและฐานะของตนเองมากเกินไป เพราะถ้าคุณกู้สูงๆ แล้วค่าผ่อนต่อเดือนมันก็จะเยอะมาก อย่าลืมนึกถึงค่าตกแต่งที่จะตามมาอีกมากมาย รวมถึงเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉินที่เราต้องใช้เงิน เช่น เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันที่ต้องการใช้เงิน ถ้าอยากผ่อนแบบไม่หนักมาก ควรผ่อนแค่ประมาณ 30% ของเงินเดือน

4. ให้เลือกระยะปีในการผ่อนให้นานที่สุด ถ้าสามารถเลือกแบบ 30 ปี ก็เลือกแบบ 30 ปีไปก่อน เวลามีเงินคุณก็ค่อยเอาไปโปะเรื่อยๆ เพราะการเลือกระยะเวลาผ่อนที่นาน จะทำให้ค่าผ่อนที่ต้องจ่ายต่อเดือนไม่มาก เช่นถ้าคุณกู้ 1,000,000 บาท เลือกผ่อน 30 ปี คุณต้องจ่ายต่อเดือนประมาณ 6,000 บาท แต่ถ้าคุณเลือกผ่อนที่ 10 ปี คุณต้องจ่ายต่อเดือนประมาณ 11,000 บาท คุณเลือกแบบ 30 ปี แล้วค่อยๆ เอาเงินไปโปะเรื่อยๆ ให้หมดภายในสิบปี ดอกเบี้ยที่เสีย ก็ไม่ต่างกันมากค่ะ อันนี้จะช่วยคุณได้ในกรณีฉุกเฉินที่คุณต้องใช้เงิน และทำให้คุณนั้น ไม่เครีดมากในการจัดการค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน


ค่าธรรมเนียมการโอน:

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ( หัก ณ ที่จ่าย ) = ตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร
2. ค่าธรรมเนียมการทำนิติกรรม ( ค่าโอน ) = 2 % จากราคาประเมินของกรมหรือราคาขาย แล้วแต่อย่างใดสูงกว่า
3. ค่าจดจำนอง ( กรณีจำนองกับสถาบันการเงิน ) = 1% ของมูลค่าที่จำนอง (จำนวนที่กู้ทั้งหมด)
4. ค่าอากรแสตมป์ (ชำระอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง อากรแสตมป์ หรือธุรกิจเฉพาะ) = 0.50% ตามราคาซื้อขายแต่ ไม่ต่ำกว่าราคาประเมินของกรม
5. ภาษีธุรกิจเฉพาะ ( ไม่ต้องชำระหากถือครองเกิน 5 ปี หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านเกินหนึ่งปี) = 3.3% ของราคาซื้อขายที่ไม่ต่ำกว่าราคาประเมินของกรม
ค่าธรรมเนียมการโอนอาจออกคนละครึ่งระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกทั้งหมด อันนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันแต่แรก ดังนั้นควรตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนต่างๆ ก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะอาจมีการโต้เถึยงเกิดขึ้นได้ในวันโอน ทางที่ดีควรรวมรายละเอียดค่าธรรมเนียมการโอนไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายด้วยเพื่อป้องกันการโต้เถียงกันภายหลังโ

ข้อมูลจาก  (cordia.bloggang)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น